คำสอนของในหลวง

ธรรมะจากหลวงพ่อปราโมทย์

อเหตุกจิตจากหลวงปู่ดูลย์ อตุโล

พระธรรมปิฎก(ปยุต ปยุตฺโต)


พุทธโอวาทฯ ก่อนปรินิพพาน 1

พุทธโอวาทฯ ก่อนปรินิพพาน 2

พุทธโอวาทฯ ก่อนปรินิพพาน 3

พุทธโอวาทฯ ก่อนปรินิพพาน 4

พุทธโอวาทฯ ก่อนปรินิพพาน 5 (จบ)
พูดเป็นธรรมชี้นำทางดี สัมมาวาจา
 

จากหนังสือ

"อตุโล ไม่มีใดเทียม"

บันทึกโดย พระโพธินันทะมุนี (สมศักดิ์ ปฺณฑิโต)

รวบรวมและเรียบเรียงโดย รศ. ดร.ปฐม นิคมานนท์

๑. ปัญจทวาราวัชชนจิต คือ กิริยาจิตที่แฝงอยู่ตาม อายตนะ หรือทวารทั้ง ๕ มีดังนี้

                 ตา ไปกระทบกับรูป เกิด จักขุวิญญาณ คือการเห็น จะห้ามไม่ให้ตาเห็นรูป ไม่ได้

                 หู ไปกระทบเสียง เกิด โสตวิญญาณ คือการได้ยิน จะห้ามไม่ให้หูได้ยินเสียง ไม่ได้

                 จมูก ไปกระทบกับกลิ่น เกิด ฆานวิญญาณ คือการได้กลิ่น จะห้ามไม่ให้จมูกรับกลิ่น ไม่ได้

                 ลิ้น ไปกระทบกับรส เกิด ชิวหาวิญญาณ คือการได้รส จะห้ามไม่ให้ลิ้นรับรู้รส ไม่ได้

                 กาย ไปกระทบกับโผฏฐัพพะ เกิด กายวิญญาณ คือการสัมผัส จะห้ามไม่ให้ กายรับสัมผัส ไม่ได้

        วิญญาณทั้ง ๕ อย่างนี้ เป็นกิริยาที่แฝงอยู่ในกายตามทวาร ทำหน้าที่รับรู้สิ่งต่างๆ ที่มากระทบ เป็นสภาวะแห่งธรรมชาติของมันเป็นอยู่เช่นนั้น  ก็แต่ว่า เมื่อจิตอาศัยทวารทั้ง ๕ เพื่อเชื่อมต่อรับรู้เหตุการณ์ภายนอก ที่เข้ามากระทบ แล้วส่งไปยังสำนักงานจิตกลางเพื่อรับรู้ เราจะห้ามมิให้เกิดมีเป็นเช่นนั้น ย่อมกระทำไม่ได้

        การป้องกันทุกข์ที่จะเกิดจากทวารทั้ง ๕ นั้น เราจะต้องสำรวมอินทรีย์ทั้ง ๕ ไม่เพลิดเพลินในอายตนะเหล่านั้น หากจำเป็นต้องอาศัยอายตนะทั้ง ๕ นั้น ประกอบการงานทางกาย ก็ควรจะกำหนดจิตให้ตั้งอยู่ในจิต เช่น เมื่อเห็นก็สักแต่ว่าเห็นไม่คิดปรุง, ได้ยินก็สักแต่ว่าได้ยิน ไม่คิดปรุง   ดังนี้ เป็นต้น (ไม่คิดปรุงหมายความว่า ไม่ให้จิตเอนเอียงไปในความเห็นดีชั่ว) [ถืออุเบกขาไม่คิดนึกปรุงแต่งเอนเอียงเข้าไปแทรกแซงนั่นเอง - webmaster]

         ๒. มโนทวาราวัชชนจิต คือ กิริยาจิตที่แฝงอยู่ที่มโนทวาร มีหน้าที่ผลิตความคิดนึกต่างๆ นานา คอยรับเหตุการณ์ภายในภายนอกมากระทบ จะดีหรือชั่วก็สะสมเอาไว้ จะห้ามจิตไม่ให้คิดในทุกๆ กรณีย่อมไม่ได้

        ก็แต่ว่าเมื่อจิตคิดปรุงไปในเรื่องราวใดๆ ถึงวัตถุ สิ่งของ บุคคลอย่างไร ก็ให้กำหนดรู้ว่าจิตคิดถึงเรื่องเหล่านั้น ก็สักแต่ว่าความคิด ไม่ใช่สัตว์บุคคล เราเขา ไม่ยึดถือวิจารณ์ความคิดเหล่านั้น    [ถืออุเบกขาเสียนั่นเอง-webmaster]

         ทำความเห็นให้เป็นปกติ ไม่ยึดถือความเห็นใดๆ[อุเบกขา - webmaster]ทั้งสิ้น จิตย่อมไม่ไหลตามกระแสอารมณ์เหล่านั้น ไม่เป็นทุกข์

         ๓. หสิตุปบาท คือ กิริยาที่จิตยิ้มเอง โดยปราศจากเจตนาที่จะยิ้ม หมายความว่าไม่อยากยิ้มมันก็ยิ้มของมันเอง กิริยาจิตอันนี้มีเฉพาะเหล่าพระอริยเจ้าเท่านั้น ในสามัญชนไม่มี

         สำหรับ อเหตุกจิต ข้อ ๑ และ ๒ มีเท่ากันในพระอริยเจ้า และในสามัญชน นักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เมื่อตั้งใจปฏิบัติตนออกจากกองทุกข์ควรพิจารณา อเหตุกจิต นี้ให้เข้าใจด้วย เพื่อความไม่ผิดพลาดในการบำเพ็ญปฏิบัติธรรม

         อเหตุกจิต นี้ นักปฏิบัติทั้งหลายควรทำความเข้าใจให้ได้ เพราะถ้าไม่เช่นนั้นแล้ว เราจะพยายามบังคับสังขารไปหมด  ซึ่งเป็นอันตรายต่อการปฏิบัติธรรมมาก เพราะความไม่เข้าใจใน อเหตุกจิต ข้อ ๑ และ ๒ นี้เอง

         อเหตุกจิต ข้อ ๓ เป็นกิริยาจิตที่ยิ้มเองโดยปราศจากเจตนาที่จะยิ้ม เกิดในจิตของเหล่าพระอริยเจ้าเท่านั้น ในสามัญชนไม่มี เพราะกิริยาจิตนี้เป็นผลของการเจริญจิตจนอยู่เหนือมายาสังขารได้แล้ว จิตไม่ต้องติดข้องในโลกมายา เพราะความรู้เท่าทันเหตุปัจจัยแห่งการปรุงแต่งได้แล้ว เป็นอิสระด้วยตัวมันเอง