คำสอนของในหลวง

ธรรมะจากหลวงพ่อปราโมทย์

จิตคือพุทธะจากหลวงปู่ดูลย์ อตุโล

พระธรรมปิฎก(ปยุต ปยุตฺโต)


พุทธโอวาทฯ ก่อนปรินิพพาน 1

พุทธโอวาทฯ ก่อนปรินิพพาน 2

พุทธโอวาทฯ ก่อนปรินิพพาน 3

พุทธโอวาทฯ ก่อนปรินิพพาน 4

พุทธโอวาทฯ ก่อนปรินิพพาน 5 (จบ)
พูดเป็นธรรมชี้นำทางดี สัมมาวาจา
 
พูดเป็นธรรมชี้นำทางดี
สัมมาวาจา




คนส่วนมากมองข้ามความสำคัญในการพูด ไม่ค่อยจะใช้คำพูด และข้อเขียน เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด ทั้งๆ ที่สามารถจะทำได้ โดยไม่ต้องลงทุกลงแรงอะไร

เกี่ยวกับเรื่องบุญกุศล มีคนจำนวนมาก รังเกียงที่จะทำบุญ โดยอ้างว่าต้องใช้เงินทองทรัพย์สมบัติ เขาเป็นคนยากจน ก็ไม่สามารถทำบุญได้

แต่ข้อเท็จจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะการพูดเป็นคุณประโยชน์ เป็นไปเพื่อช่วยเหลือเกื้อกูล เป็นธรรมวินัย เป็นเหตุเป็นผล ไม่เป็นโทษภัยแก่ใครๆ นั้น นับว่าเป็นบุญกุศลมหาศาล โดยไม่ต้องเสียเงินทองทรัพย์สินอะไรเลย

พูดเป็นกุศล ก็คือ พูดด้วยวจีสุจริต ๔

ตามนัยแห่งอกุศลกรรมบถ ๑๐ ได้แก่

๑. ไม่พูดเท็จ ทำลายประโยชน์ของผู้อื่น
๒. ไม่พูดส่อเสียด ยุยงให้เขาแตกกัน
๓. ไม่พูดด่ากัน ด้วยคำหยาบ
๔. ไม่พูดเพ้อเจ้อไร้สาระ ให้คนหลงใหล ประมาทสูญเสียโอกาสในการทำความดี

การพูดวจีสุจริตดังกล่าว ชื่อว่าเป็นสัมมวาจาเป็นองค์หนึ่งในมรรคมีองค์แปด พิจารณาเพียงผิวเผิน อาจเห็นว่าไม่มีความสำคัญในการบรรลุมรรคผลนิพพาน แต่สำคัญไม่น้อยเลย

เพราะพระพุทธองค์ ทรงสอนให้เว้นจากทางผิด แล้วดำเนินไปในทางถูกต้อง เป็นการให้ปิดประตูทางแห่งความเสื่อมเสียให้ได้ก่อน เพื่อมิให้เป็นคนชั่ว คนบาป ซึ่งถ้าทำบาปเข้าไปแล้ว ก็ยิ่งทำให้ห่างไกลมรรคผลนิพพาน หมดโอกาสพ้นทุกข์ดังประสงค์

ขออย่าลืมว่า ทางกาย และทางใจ มีประตูบาปอยู่เพียงทางละ ๓ ประตูเท่านั้น ส่วนทางวาจานี้มีประตูบาป เปิดรับไว้ถึง ๔ ประตู ซึ่งคนทั่วไปมักถลันเข้าไปได้อย่างง่ายดาย

เพราะฉะนั้น จะต้องเห็นความสำคัญจะต้องสำรวมระวังสม่ำเสมอ มิฉะนั้นจะไปสู่ทุคติแทนสุคติ หรือจะไปสู่ความเป็นพาล แทน นิพพาน อย่างง่ายดาย

ยกตัวอย่าง อดีตกรรมของ นางอัมพปาลี หญิงโสเภณีใจบุญ ครั้นพุทธกาล ซึ่งได้บวชเป็นภิกษุณีในพระพุทธกาลนี้ ครั้นได้บรรลุธรรมสูงสุดแล้ว ได้เล่าประวัติในอดีตชาติว่า

เธอได้เกิดเป็นหญิงในสมัยพระพุทธเจ้า พระนามว่าสิขี วันหนึ่ง ได้ไปไหว้พระเจดีย์ เดินประทักษิณ เวียนขวา แสดงคารวะ เห็นกองน้ำลายที่ภิกษุณีผู้ขีณาสพ สิ้นกิเลส บ้วนทิ้งไว้ ก็เกิดความโกรธ ปากพล่อย ด่าว่า อีแพศยา อะไรนี่ ถ่มน้ำลายลงตรงนี้ได้

ด้วยผรุสวาจาที่ด่าพระอรหันต์ดังกล่าว เป็นเหตุให้เธอต้องลงสู่นรกหลายต่อหลายชาติ เหลือเพียงเศษกรรม ชาตินี้ ได้มาเกิดเป็นหญิงโสเภณี อยู่ในสวนมะม่วง บริเวณพระราชอุทยาน กรุงเวสาลี เพื่อให้เจ้าชายนักเที่ยวแย่งชิงกันเชยชม จนเป็นคดีขึ้นศาล

คณะผู้พิพากษา ได้ตัดสินให้เธอรับตำแหน่งหญิงคณิกา มีหน้าที่เป็นหญิงบริการให้เจ้าชายทั้งหลายในเมืองนี้ แต่ยังดีหน่อยที่เป็นหญิงโสเภณีที่มีอิสระ ไปวัด ฟังธรรม บำเพ็ญบุญได้

เธอเลื่อมใสพระพุทธองค์ ได้สร้างวิหารถวาย และได้ฟังธรรมในสำนักพระวิมลโกณฑัญญะ ขอบวชเป็นภิกษุณี เมื่อบวชแล้วบำเพ็ญสมถวิปัสสนา ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ สิ้นเวรกรรมไป

หญิงโสเภณีอีกคนหนึ่ง ชื่อ อัฑฒกาสี ก็ทำเวรกรรมแบบเดียวกับนางอัมพปาลี ที่กล่าวแล้ว คือ ปากเสีย ด่าภิกษุขีณาสพรูปหนึ่งในสมัยพระกัสสปพุทธเจ้า แล้วมีวิบากกรรมไปทุคติ เช่นเดียวกับนางอัมพปาลี นั่นเอง

ชาติสุดท้าย ก็ยังต้องมาเกิดเป็นโสเภณีอีกชาติหนึ่งจนได้ แสดงให้เห็นโทษที่เป็นบาปรุนแรง แต่ทำได้ง่ายดาย เหมือนเดินทางลื่นเผลอเป็นลื่นล้มคว่ำคะมำหงายถึงพิการได้ง่ายๆ

ส่วนที่ว่าพูดเป็นบุญมหาศาลนั้น คือพูดตรงหลักบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ "การพูดไม่เป็นเท็จ" นับว่าเป็นสีลมัย บุญสำเร็จด้วยการถือศีล

         การพูดสอนให้ผู้อื่นทำดีหนีบาปอกุศล และไปสวรรค์นิพพาน นับว่าเป็น ธัมมเทสนามัย บุญสำเร็จด้วยการสั่งสอนคุณธรรมแก่ผู้อื่น

         ข้อนี้ ถ้าสงเคราะห์เข้าในบุญกิริยาวัตถุ ๓ ก็เป็นทานมัย บุญสำเร็จด้วยการให้ และถือว่าเป็นการให้ชั้นยอดเยี่ยม ไม่มีการให้ชนิดอื่นดีกว่า เพราะการให้ชนิดนี้เป็นธรรมทาน เป็นทานที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า ยอดเยี่ยม เพราะให้สิ่งที่เป็นอมตะ ไม่ตาย สมด้วยพระพุทธภาษิตว่า

        สพฺพทานํ ธมฺมทานํ ชินาติ

          การให้ ธรรม ย่อมชนะ การให้ทั้งปวง

                     (ขุ.ธ. ๒๕/๖๓)

          การให้ธรรมนำความสว่างไสวไปสู่จิตใจ เพื่อนมนุษย์ผู้มืดบอด หรือตกอยู่ในทุกข์โศก กำลังได้รับอันตรายแก่ชีวิตนั้น เป็นบุญมหาศาล

           ขอให้ชาวพุทธช่วยกันสั่งสอนต่อๆ ไป ให้ชาวพุทธมีวิญญาณนักเผยแพร่ ทำหน้าที่ชาวพุทธผู้รักพระศาสนา ช่วยกันเผยแผ่พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ด้วยการใช้ปากสนทนาหรือพูดจาธรรมะ บุญอะไรจะประเสริฐเท่าการให้ธรรมะเป็นทาน

          บุคคลทุกเพศ ทุกวัย ทุกฐานะ ไม่จำกัดว่า จน มี ผู้ดี ไพร่ เด็ก ผู้ใหญ่ หนุ่มสาว เฒ่าแก่ มาช่วยกันสอน ช่วยกันแนะทางสวรรค์นิพพาน ให้เพื่อนร่วมโลก คุณพ่อคุณแม่ รีบสอนลูกหลาน ของตนตั้งแต่วันนี้ ให้ลูกหลานพูดด้วยเมตตาต่อกัน พูดตามหลักการพูดแบบพุทธ อย่าพูดแบบพาล

          หลักการพูดที่พระพุทธองค์ทรงแสดงแก่อภัยราชกุมาร ในอภัยราชกุมารสูตร ความว่า

           ๑. วาจาใด ไม่จริง ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ และ ไม่เป็นที่รักขอบใจของคนอื่น ตถาคตไม่พูดวาจานั้น

            ๒. วาจาใดจริง แต่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ทั้งไม่เป็นที่รักชอบใจของคนอื่นด้วย ตถาคตไม่พูดวาจานั้น

           ๓. ส่วน วาจาใด จริงแท้ ประกอบด้วยประโยชน์ แต่ไม่เป็นที่รักชอบใจของคนอื่น ตถาคต ย่อมเป็นผู้รู้จักกาลอันควร หรือไม่ควรที่จะพูดวาจานั้น

          ๔. วาจาใด ไม่จริง ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ถึงเป็นที่รักชอบใจ ของคนอื่น คถาคต ไม่พูดวาจานั้นเด็ดขาด

          ๕. วาจาใด แม้จริงแท้ แต่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ถึงเป็นที่รักชอบใจของคนอื่น ตถาคต ก็ไม่พูดวาจานั้น

          ๖. วาจาใด จริงแท้ด้วย ประกอบด้วยประโยชน์ด้วย ทั้งเป็นที่รักชอบใจของคนอื่นด้วย ตถาคต ย่อมรู้กาลที่จะพูดวาจานั้น

            (ทรงเลือกเวลาพูด ไม่ใช่พูดทุกเวลา)

           ขอให้ชาวพุทธยึดหลักการพูดของพระบรมศาสดานี้ไว้ ในการจะพูดจา เพราะเป็นวิธีการพูดชั้นครู ชั้นยอด

           จากพุทธวิธีการพูดนี้ ทำให้สอนใจเราว่า แม้จะมีการให้ถือศีลเว้นจากมุสาวาท ก็เป็นการเน้นให้มีการเว้นคำพูดเท็จ เท่านั้น ไม่ใช่ว่า จะต้องพูดจริง ในทุกสถานการณ์

           อีกประการหนึ่ง พระพุทธองค์ ทรงสอนให้ใช้ปิยวาจา ในการพูดรวมทั้งการเขียน เว้นคำพูดที่จะสร้างสิ่งไม่เป็นประโยชน์ ไม่เป็นธรรม หากให้พูดแต่คำสุภาพ คำสมัครสมานสามัคคี คำชี้ประโยชน์ และคำที่ไม่ผิดธรรม สมดังพระพุทธภาษิตว่า


            สจฺเจ อตฺเถ จ ธมฺเม จ   อหุ สนฺต ปติฏฺฐิตา.

            ท่านผู้สงบ เป็นผู้ตั้งมั่นในสัจจะที่เป็นประโยชน์   และเป็นธรรม (ถูกทำนองคลองธรรม)

                         (สํ.ส. ๑๕/๒๗๘)

             กลฺยาณิเมว มุญฺเจยฺย      น หิ มุญเจยฺย ปาปิกํ
             โมกฺโข กลฺยาณิยา สาธุ    มุตฺวา ตปฺปติ ปาปิกํ.

             พึงเปล่งวาจาดี เท่านั้น ไม่พึงเปล่งวาจาชั่วเลย
             การเปล่งวาจาดี ยังประโยชน์ให้สำเร็จดี
             คนเปล่งวาจาชั่ว ย่อมเดือดร้อนในภายหลัง

                        (ขุ.ชา.เอก. ๒๗/๒๘)

           พระพุทธภาษิตข้างต้น มีความหมายชัดเจนอยู่แล้ว จึงขอให้ทุกคนมุ่งพูดดี พูดเป็นบุญ เป็นกุศล เป็นประโยชน์ เป็นธรรม พูดเพื่อดำรงรักษาชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และความเป็นธรรมในสังคม

          ขอให้รำลึกเสมอว่า ทำบุญที่ง่ายที่สุด ก็คือ พูดเป็นธรรมชี้นำทางดี พูดบ่อยๆ ได้บุญบ่อยๆ พูดดีมากๆ ได้บุญมากๆ ฝากไว้ให้คิด

---------------------------------------------------
คัดลอกจาก:เสียงธรรมจากศาลาพระราชศรัทธา
รวมผลงานเผยแผ่ประจำปี พ.ศ. ๒๕๔๓ เล่ม ๑